Monday, December 8, 2014

การเลือกความยาวท่อนอน ขาจาน

การเลือกความยาวของท่อบน ( top tube length )

เพื่อนๆครับ ลองเอาส่วนสูงของเพื่อนๆเอง หารด้วย ความยาวinseemที่วัดได้จากในตอนที่แล้ว แล้วมาดูกันหน่อยซิว่าเพื่อนๆมีผลลัพธ์เป็นเท่าไหร่

ว่าแต่ว่าจะหารไปทำไมกัน ถ้าเพื่อนๆอ่านเรื่องของinseem length ที่อ้างอิงไว้ในตอนที่แล้ว เพื่อนๆก็คงจะผ่านตาถึงคำว่า torso length กันหละ ( ความยาวtorso ก้อคือความยาวของช่วงหลังนั่นเอง , ในขณะที่ความinseemคือความยาวของช่วงขา ) การออกแบบท่อบนของจักรยานนั้น จะคำนึงถึงtorso lengthของผู้ขี่ ในขณะที่ท่อนั่งจะคำนึงถึงinseem lengthเป็นสำคัญ

เพื่อนๆคงจะหารเสร็จแล้วนะ มาแปรผลกันดีกว่า
ถ้าผลหารมีค่ามากกว่า 2.2 แสดงว่า เป็นคนที่มีช่วงหลังยาว ( เมื่อเปรียบเทียบกับความยาวช่วงขานะครับ ไม่ได้หมายถึงคนสันหลังยาว--->ขี้เกียจ นะ )
ถ้าผลหารมีค่าน้อยกว่า 2.0 แสดงว่า เป็นคนที่มีช่วงหลังสั้น
ถ้าอยู่ระหว่าง 2.0 - 2.2 ก็จัดอยู่ในกลุ่มเฉลี่ย

จักรยานส่วนใหญ่นั้นจะออกแบบมาสำหรับคนที่มีสัดส่วนอยู่ในค่าเฉลี่ย จักรยานในแบบstandard frame หรือ conventional frame มักจะมีความยาวของท่อบน ( วัดจากcenter of seat tube ไปยัง center of head tube นะครับ ) สั้นกว่าความยาวของท่อนั่ง ( วัด center to center เช่นกัน ) ประมาณ 2 - 3 ซม. ( อาจจะแตกต่างไปจากนี้ ขึ้นกับขนาดของเฟรม และยี่ห้อด้วยเป็นสำคัญ )

ในกลุ่มที่มีช่วงหลังค่อนข้างยาว ก็ควรจะพิจารณาเลือกเฟรมที่มีท่อบนค่อนข้างยาวหรือยาวเลย ( ขึ้นกับว่าช่วงหลังยาวมากแค่ไหน ) เฟรมกลุ่มนี้จะมีความยาวท่อบนที่เท่ากับหรือยาวกว่าความยาวท่อนั่ง เช่น ท่อนั่งยาว 58 ซม. ท่อบนยาว 59 ซม.

ในกลุ่มที่มีช่วงหลังค่อนข้างสั้น ก็ควรจะพิจารณาเลือกเฟรมที่มีท่อบนที่สั้น เช่น รถที่ออกแบบมาสำหรับผู้หญิง เช่น Trek WSD เป็นต้น

การเลือกจักรยานที่มีสัดส่วนผิดไปจากสัดส่วนของร่างกายจะมีผลเสียใน เรื่องของการการหายใจ การบังคับเลี้ยว การกระจายน้ำหนัก และสร้างความเมื่อยล้าให้แก่กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่supportช่วงหลัง !!อย่าเชื่อใครโดยขาดความชั่งใจว่าเรายังสามารถปรับแต่งความยาวของStem หรือปรับตำแหน่งหน้า-หลังของเบาะชดเชยได้ เพราะนั่นจะทำให้การปรับแต่งต่างๆผิดเพี้ยนไปหมด ซึ่งเราจะได้กล่าวกันต่อไป


การปรับแต่งรถถนนให้เข้ากับตัวเรา
ความสูงของเบาะ

ความสูงของเบาะมีผลต่อactivityของกล้ามเนื้อขา โดยผลการศึกษาการทำงานของกล้ามเนื้อขาโดยเปรียบเทียบดูจากคลื่นไฟฟ้ากล้าม เนื้อ (EMG) พบว่าเมื่อเพิ่มความสูงของเบาะขึ้น กล้ามเนื้อขาที่เกี่ยวข้องจะทำงานเร็วขึ้น และมีเวลาที่ทำงานอยู่นานขึ้น แต่ไม่พบการเพิ่มขึ้นของmagnitudeของEMG ซึ่งนั่นหมายความว่าจำนวนของกล้ามเนื้อที่ทำงาน และแรงหดตัวของกล้ามเนื้อไม่เปลี่ยนแปลง

ความสูงของเบาะที่เหมาะสมจะมีผลช่วยลดการบาดเจ็บของข้อต่างๆ รวมไปถึงกล้ามเนื้อ และมีผลต่อประสิทธิภาพของการปั่น แต่อย่างไรก็ตาม ความสูงที่เหมาะสมนั้นยังไม่มีใครที่สามารถจะฟันธงลงไปว่าต้องเท่านั้น เท่านี้ แต่!!ก็มีหลายวิธีที่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก และใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่

  1. วิธีของJohn Howard
    วิธีนี้แนะนำว่า เมื่อวางตำแหน่งของpedalที่ 6 นาฬิกา วางส่วนปลายของเท้าที่แกนบันได ( ก็ตำแหน่งที่เรายึดcleatนั่นแหละครับ ) เข่าจะงอ 30 องศา พอดี ( มุมของเข่านี้จะวัดจากเส้นที่ลากตลอดแนวความยาวของกระดูกขาด้านบน (femur) และกระดูกหน้าแข้ง(tibia) )ดังรูป


  2. วิธีของ Greg LeMond
    อาศัยการคำนวณจากค่าInseem length โดยระยะความสูงของเบาะที่เหมาะสม มีค่าเท่ากับ 0.883 x Inseem length โดยถ้าหากผู้ขี่ใช้clipless pedal ก็ให้ลบค่าที่ได้จากการคำนวณนี้ออกไป 3 mm
    ความสูงของเบาะวิธีนี้ จะเป็นระยะที่วัดระหว่างจุดกึ่งกลางของแกนกระโหลกไปยังส่วนบนสุดของเบาะ ( The top of saddle ) โดยแนวของการวัดนั้นจะวัดผ่านท่อนั่งและหลักอาน


  3. วิธีของ Andy Pruitt
    วิธีนี้จะคล้ายๆกับวิธีที่ 1 แต่จะมีจุดอ้างอิงในการวัด 3 จุด ( ฮ่าๆ มาหัดเรียนวิชาanatomyกันหน่อยก็แล้วกันนะครับ ) ดังนี้

    • Greater trochanter ของกระดูก femur
      greater trochanter เป็นปุ่มกระดูกที่สามารถคลำได้ง่าย โดยการยืนตรง เอามือคลำที่กระดูกเชิงกรานทางด้านข้างของลำตัว แล้วเลื่อนมือลงไปหากระดูกต้นขา ก็จะสะดุดกับปุ่มกระดูกนี้ได้ เมื่อเรางอข้อสะโพก (ยกเข่า) ปุ่มกระดูกนี้จะเป็นจุดหมุนของการงอข้อสะโพก ซึ่งเราจะพบว่าไม่มีการขยับขึ้นลงของปุ่มกระดูกนี้
    • Lateral condyle ของกระดูก femur
      ปุ่มกระดูกนี้จะอยู่ส่วนปลายของกระดูกfemur เป็นส่วนหนึ่งของข้อเข่า เมื่อเรานั่งบนเก้าอี้ แล้วงอเข่าเหยียดเข่าสลับกัน เราจะคลำได้ว่าปุ่มกระดูกดังกล่าวนี้จะอยู่กับที่เสมือนหนึ่งว่าเป็นจุดหมุน ของเข่านั่นเอง
    • Lateral malleolus
      ปุ่มกระดูกนี้ ก็คือตาตุ่มด้านนอกนั่นเอง
      ตำแหน่งความสูงที่เหมาะสมของเบาะนั้น จะวัดมุมได้ดังรูป



ถ้าหากคุณลองทำดูทั้ง 3 วิธีนี้ คุณก็จะพบว่าผลที่ได้จะมีค่าที่ใกล้เคียงกันมาก ( แต่จะต้องวัดในตำแหน่งที่เบาะทำมุมราบกับพื้น หรือเชิดปลายจมูกเบาะขึ้นเล็กน้อย (ในกรณีที่เป็นเบาะโค้ง , ผู้เรียบเรียง ) )

อีกวิธีในการดูง่ายๆว่าเบาะคุณสูงเกินไป ก็คือ จะมีการขยับของสะโพกตลอดเวลาที่มีการปั่น
และอีกวิธีในการดูง่ายๆว่าเบาะคุณเตี้ยเกินไป ก็คือ จะมีการขยับของร่างกายส่วนบนมากกว่าปกติและมักจะต้องยืนปั่นบ่อยๆ
ถ้าหากพบว่าวิธีทั้ง 3 นี้ได้ค่าที่แตกต่างกับความสูงเดิมที่คุณเคยใช้งานอยู่เป็นประจำ และต้องการจะปรับแต่งใหม่ๆ ก็โปรดใจเย็นๆสักนิดครับ การปรับทีเดียวมากๆเลยนั้น อาจจะปรับตัวไม่ได้ เพราะว่าเคยชินกับความสูงเดิม ก็มีคำแนะนำว่าให้ค่อยๆปรับเพิ่มหรือลดความสูง 2 mm ทุกๆ 2 สัปดาห์ ( ในกรณีนี้เข้าใจว่า น่าจะเหมาะสมกับผู้ที่ปั่นประจำทุกวัน ระยะทางรวมวันหนึ่งๆเป็นร้อยกม. เลยทำให้การปรับตัวนั้นต้องใช้เวลามากกว่าเหล่าพวกเราซึ่งเป็นมือใหม่ )


ตำแหน่งเดินหน้า-ถอยหลังของเบาะ ( Fore-Aft position )
    ตำแหน่งหน้า-หลังของเบาะที่ใช้กันมาอย่างแพร่หลาย ก็คือตำแหน่งที่เรียกว่า knee over pedal spindle หรือ KOPs ตำแหน่งนี้ผมเองก็เคยกล่าวเอาเป็นในเรื่อง การปรับจักรยานให้เข้ากับตัวของเรา ( นานาสาระเรื่องที่ 2 ตอน2 )
    ในจักรยานถนนนั้น KOPsก็ยังเป็นตำแหน่งพื้นฐานที่เราใช้ในการset ระยะหน้า-หลังของเบาะเช่นกัน ตำแหน่งนี้มีผลต่อการออกแรง และการใช้รอบขา
  • ในกรณีที่เราตั้งระยะหน้า-หลังของเบาะให้ถอยหลังห่างไปจากจุดKOPs เราก็จะได้แรงในถีบบันไดมากขึ้น ( ในการปั่นเสือภูเขา ที่มีเส้นทางขึ้นเขาชันๆ การปรับเบาะให้ถอยหลังไปจากจุดKOPs จะช่วยให้ผู้ปั่นสามารถเพิ่มแรงถีบบันไดขึ้น โดยใช้รอบขาลดลง , พูดง่ายๆว่า เรียกแรงบิดที่รอบเครื่องต่ำลงนั่นแหละ )
    นักแข่งรถถนนหลายคนนิยมตั้งเบาะถอยหลังห่างไปจากจุดKOPs 1-2 ซม. ( ในกลุ่มเสือภูเขา บางคนเช่นNed Overend ถอยเบาะไปจากจุดKOPs ถึง 6 ซม. )
  • ในกรณีที่เราตั้งระยะหน้า-หลังของเบาะให้เดินหน้าล้ำจุดKOPs ขึ้นไป จะพบว่าที่ตำแหน่งนี้นักปั่นสามารถใช้รอบขาสูงๆได้สะดวกกว่าเดิม ซึ่งจะเห็นได้ในกลุ่มSprinter จะตั้งเบาะเดินหน้าล้ำจุดKOPsขึ้นไป 1-2 ซม. ( ยิ่งถ้าเป็นพวกแข่งไตรกีฬาด้วยแล้ว ตำแหน่งเบาะจะล้ำหน้าKOPsไปมากทีเดียว เหตุผลสำคัญนอกจากได้รอบขาที่สูงแล้ว นักไตรกีฬาส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากนักวิ่ง จึงมีกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังหรือHamstringsที่แข็งแรง และยืดหยุ่นกว่านักจักรยาน ร่วมกับรถจักรยานไตรกีฬามีมุมของท่อนั่งที่ชันกว่ารถถนนทั่วไป และการปั่นที่ห้ามเกาะท้ายกัน ( Drafting is illegal ) ท่าปั่นลักษณะนี้จะช่วยให้สามารถหมอบได้มากขึ้น (ก็ต้องพึ่งตัวเองใช่ไหม aerodynamicจึงจำเป็นที่สุด)โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะตีเข่าใส่หน้าอกตัวเอง ไง และในท่าปั่นเช่นนี้จะให้ความคุ้นเคยคล้ายๆกับการวิ่งอยู่บนบันได


มุมของเบาะ (saddle tilt)
มุมของเบาะก็คล้ายๆกับเสือภูเขานั่นแหละครับ คือจะตั้งเบาะให้ขนานกับพื้นโลก หรือบางทีอาจจะปรับให้จมูกของเบาะเชิดขึ้นเล็กน้อย(ในกรณีที่เป็นเบาะที่ โค้ง)
การปรับเบาะให้เชิดมากๆนั้นในผู้ชายจะมีผลเสีย เพราะว่าจะมีการกดบริเวณXXX อาจจะเกิดอาการชา และสิ่งไม่พึงประสงค์ที่กลัวๆกัน
ส่วนในผู้หญิงนั้น ในบางคนอาจจะชอบที่จะปรับให้จมูกของเบาะก้มต่ำลงเล็กน้อย เพื่อลดแรงกดทับบริเวณอันพึงสงวน


ตำแหน่งความสูงของStem
ข้อควรพิจารณาก็คือ stemยิ่งสูงยิ่งสบาย stemยิ่งต่ำยิ่งลู่ลม
โดยทั่วไปแล้ว ส่วนสูงที่สุดของstem ควรจะต่ำกว่าส่วนสูงที่สุดของเบาะประมาณ 1-3 นิ้ว ( โดยเฉลี่ยควรประมาณ 2นิ้ว ) จริงอยู่ที่ว่าStemยิ่งต่ำเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มAerodymanicขึ้นเท่านั้น แต่!!!ก็ยิ่งเพิ่มความเมื่อยล้าให้แก่ร่างกายส่วนคอ หลังตอนล่าง และบ่อยครั้งที่อาจจะเพิ่มการกดบริเวณXXX และถ้าหากว่า ในเวลาที่ก้มหมอบปั่น แล้วหัวเข่าสามารถตีใส่หน้าอกตัวเองได้หละก้อ แสดงว่าstemต่ำเกินไปแล้วครับ


ความยาวของStem ( Stem extension )
จักรยานถนน หรือจักรยานภูเขาก็ตั้งอยู่ในพื้นฐานคล้ายๆกัน เพื่อนๆคงจะเคยได้ยินคำว่าระยะเอื้อม (reach)มาบ้างแล้ว ระยะเอื้อมจะมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ ความยาวของท่อบน และความยาวของStem ความยาวของท่อบนนั้นเป็นสิ่งที่แปรผันไปตามขนาดของเฟรม ซึ่งถูกกำหนดมาจากความยาวของท่อนั่ง การปรับระยะเอื้อมที่เหมาะสมจึงต้องอาศัยการเลือกstemที่มีความสั้นยาวแตก ต่างกันไปตามแต่รูปร่างของผู้ขี่เอง

การจะเลือกขนาดความยาวของstemที่เหมาะสมนั้น จะต้องอาศัยเพื่อนที่สนิทกับคุณมากๆหน่อย ( ไม่สนิทจริง เขาไม่อยากจะช่วยครับ เพราะมันยุ่งยาก ) จากนั้นก็หาtrainerแบบจับล้อหลังมายึดกับจักรยานเอาไว้ให้มั่นคง แล้วหาไม้หรืออะไรก็ได้มารองหนุนล้อหน้าให้ได้ระดับเดียวกับเป๊ะกับล้อหลัง จากนั้นให้ขึ้นไปนั่งบนอาน วางตำแหน่งเท้าให้เหมาะสม เอามือจับที่ส่วนของแฮนด์ล่าง ( the drops of the bar ) จากนั้นต้องพึ่งเพื่อนหละครับ

คราวนี้ให้คุณก้มหน้าลงไปมองพื้น โดยทำมุม45องศา แล้วให้เพื่อนสนิทของคุณทิ้งสายดิ่งจากปลายดั้งจมูกของคุณลงไปที่พื้น ถ้าหากว่าstemที่ใช้อยู่มีความยาวที่เหมาะสม จะพบว่าส่วนปลายสุดของstemหรือแฮนด์จะอยู่หน้าต่อสายดิ่ง 1 นิ้วพอดี และในตำแหน่งนี้เมื่อคุณมองไปที่ดุมล้อหน้า จะเห็นว่าแกนของดุมล้อหน้าจะถูกบังด้วยhandlebars



อีกวิธีหนึ่งที่Greg LeMond แนะนำไว้ก้อคือ ในกรณีที่ความยาวของstemเหมาะสมนั้น เมื่อก้มลงเอามือจับไว้ที่แฮนด์ล่าง งอศอกประมาณ 65 - 70 องศา และขาจานอยู่ในตำแหน่ง 1 และ 7 นาฬิกา จะพบว่าข้อศอกจะอยู่ห่างจากลูกสะบ้า 0-1นิ้ว ( อาจจะสัมผัสกันได้ )

เอาหละจากนั้นให้ไปพิสูจน์กันจริงๆจังๆ ด้วยการปั่นระยะทางไกลๆสักหน่อย ( ปั่นใกล้ๆไม่ทันรู้สึกหรอกครับ )
- ถ้าหากว่าstemนั้นสั้นเกินไป คุณก็จะมีอาการปวดเมื่อยบริเวณคอและไหล่
- ถ้าหากว่า stemนั้นยาวเกินไป คุณก็จะมีอาการปวดเมื่อยหรือไม่ค่อยสบายนักบริเวณด้านหลังต้นแขน

Stem ในท้องตลาดจะมีความยาวให้เลือกใช้ตั้งแต่ 4 - 14 ซม. โดยที่ผู้ชายส่วนใหญ่มักจะลงตัวกับstemยาว 10 - 13 ซม. สำหรับผู้หญิงหรือผู้ที่มีtorso lengthที่ค่อนข้างสั้น ก็อาจจะใช้สั้นกว่านี้ได้อีก อย่างไรก็ตามถ้าหากว่าคุณพบว่าคุณต้องใช้stemที่ยาวมากเกินไป หรือสั้นมากๆ ขอให้คุณฉุกใจคิดไว้เถอะครับว่า คุณกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ลงตัวของเฟรมที่คุณใช้อยู่ โดยมีต้นเหตุมาจากความยาวของท่อบนที่ไม่เหมาะสมกับความยาวลำตัวช่วงบนของคุณ นั่นเอง

การชดเชยความไม่ลงตัวของขนาดเฟรม ด้วยการเลือกใช้stemที่สั้นหรือยาวมากๆ จะส่งผลเสียในแง่ของการควบคุมรถ การกระจายน้ำหนัก และจะได้จักรยานที่ขี่ไม่สบาย


Handlebars
แฮนด์ที่เหมาะสมนั้นควรจะมีความกว้างเท่ากับความกว้างของ ไหล่ ( วัดในท่าทิ้งแขนลงล่าง โดยวัดระยะห่างระหว่างปุ่มกระดูกของกระดูกต้นแขนทั้งสองข้าง ซึ่งปุ่มกระดูกนี้จะอยู่ด้านบนและนอกสุดของหัวไหล่คุณเอง ) การเลือกแฮนด์ที่แคบเกินไปจะส่งผลให้หายใจลำบาก ในขณะที่แฮนด์ที่กว้างเกินไป จะทำให้เปิดส่วนหน้าอกรับลมมากเกินไปและเพิ่มแรงปะทะของลมโดยใช่เหตุ ี


ความยาวขาจาน (Crank-Arm length)
ความยาวขาจานมีผลอย่างมากต่อรอบขาและการทดแรงถีบบันได ขา จานที่ยาวกว่าจะถูกเลือกใช้สำหรับการปั่นเกียร์หนักที่รอบขาต่ำ ในขณะที่ขาจานที่สั้นกว่าจะถูกเลือกใช้สำหรับการปั่นด้วยเกียร์ที่เบากว่า โดยใช้รอบขาที่สูงกว่า

เราอาจจะเลือกใช้ขาจานที่สั้นลงสำหรับการปั่นประเภทtrack sprint และ criteriums และอาจจะเลือกขาจานที่ยาวขึ้นสำหรับการปั่นแบบtime trial และการปั่นขึ้นเขา ( เสือภูเขาจะใช้ขาจานที่ยาวขึ้น เพื่อทดแรงสำหรับการป่ายปีนทางชันได้ดีขึ้น )

สิ่งที่อยากให้คิดถึงไว้บ้างก็คือ เมื่อคุณใช้ขาจานที่มีความยาวกว่าที่น่าจะเป็นหรือเหมาะสม ( เหมาะสมในแง่ของการไม่บั่นทอน หรือไม่สร้างความสึกหรอให้แก่หัวเข่า ) เอาหละถึงแม้ว่าคุณปรับความสูงของเบาะไว้เหมาะสมแล้ว สิ่งที่คุณจะพบก็คือในรอบการปั่น ที่ตำแหน่งหัวเข่าของคุณอยู่สูงสุดนั้น ขาจานที่ยาวกว่า จะมีการงอของหัวเข่ามากกว่าเสมอ พูดง่ายๆว่าหัวเข่าด้านบนจะถูกยกสูงขึ้นไปอีกกว่าเดิม เช่น ถ้าหากคุณเหมาะสมกับขาจานที่ยาวเพียง 170mm แต่คุณฝืนใช้ขาจานที่ยาวถึง 175 mm จริงอยู่ที่ว่าเมื่อขาจานขนานกับโลก ขาจานอาจจะยาวขึ้นกว่าเดิมอีกเพียง 5 mm ก็เหมือนกับแค่ก้าวขายาวกว่าเดิมอีกแค่ 5 mm แต่ในขณะที่หัวเข่าคุณขึ้นสูงสุดนี่สิครับ หัวเข่าด้านบนคุณจะต้องถูกชักขึ้นสูงกว่าเก่าอีก 10 mm เลยทีเดียว ( อย่าลืมนะครับว่า ขาจานยาวขึ้นอีก 5 mm คุณก็ต้องปรับอานต่ำลงอีก 5 mm ด้วย ) ( ขอขอบคุณ คุณนทีแห่งโปรไบค์ที่ให้ข้อคิดนี้เอาไว้ครับ ) นั่นก็ย่อมหมายถึงว่าคุณต้องงอเข่ามากขึ้นกว่าเดิมอีก ความสึกหรอของข้อเข่าก็จะมากขึ้นโดยเฉพาะถ้าหากคุณพยายามที่จะควงบันไดด้วย รอบขาที่สูงๆ

ถ้าหากคุณรู้สึกว่าหัวเข่าคุณงอมากเกินไปในตำแหน่งที่ยกขาสูงสุด ก็ลองเปลี่ยนมาใช้ขาจานที่สั้นลงอีกสัก 2.5 mm ก้อน่าจะเป็นผลดีกับคุณเองนะครับ

เอาหละครับ สูตรสำเร็จรูปที่ถูกเขียนเอาไว้ ลองพิจารณาก็แล้วกันครับ ผมหามาให้ 2 สูตร

  1. พิจารณาจากส่วนสูงโดยรวม

    • ส่วนสูงน้อยกว่า 60 นิ้ว ควรเลือกcrank-arm length 160mm
    • ส่วนสูงระหว่าง 60 - 64 นิ้ว ควรเลือกcrank-arm length 165 - 167.5mm
    • ส่วนสูงระหว่าง 65 - 72 นิ้ว ควรเลือกcrank-arm length 170mm
    • ส่วนสูงระหว่าง 72 - 74 นิ้ว ควรเลือกcrank-arm length 172.5mm
    • ส่วนสูงระหว่าง 74 - 76 นิ้ว ควรเลือกcrank-arm length 175mm
    • ส่วนสูงมากกว่า 76 นิ้ว ควรเลือกcrank-arm length180 - 185 mm

  2. พิจารณาจากinseem length

    • Inseem lenght ที่สั้นกว่า 29 นิ้ว ควรเลือกcrank-arm length 165 mm
    • Inseem lenght ในช่วง 29 - 32 นิ้ว ควรเลือกcrank-arm length 170 mm
    • Inseem lenght ในช่วง 32 - 34 นิ้ว ควรเลือกcrank-arm length 172.5 mm
    • Inseem lenght ที่ยาวกว่า 34 นิ้ว ควรเลือกcrank-arm length 175 mm

4 comments:

Nichakun_k said...

บทความดีๆครับ ชอบเลย

Unknown said...

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่ดีๆมากๆครับ

Unknown said...

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่ดีๆมากๆครับ

TON NAPHAT said...

ผมดูผ่านมือถือ รูปมันหายไปน่ะครับ
บทความดีมาก เลยอยากเห็นภาพประกอบด้วยครับ