1. จักรยานไม่ว่าจะใหม่หรือเก่าก่อนออกไปใช้ ควรตรวจตราดูความเรียบร้อยของรถเสมอนะครับ
เช่น เบรกอยู่ในตำแหน่งของมันหรือเปล่า ยางอ่อนไปไหมอุปกรณ์บนตัวรถยังทำงานได้เป็นปกติไหม
พูดง่ายๆก็คือรถต้องพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่างนั่นเอง
2. อุปกรณ์ประกอบเมื่อซื้อมาแล้วอย่านำไปวางไว้เฉยๆ ควรนำมาใช้ด้วยไม่ว่าจะเป็นไฟหน้าหลัง
กระดิ่ง หรือพวกเครื่องป้องกันร่างกายเรา เช่น ถุงมือถุงแขน แว่นตา เพราะไม่ว่าทางจะใกล้หรือไกล
มักเกิดอันตรายที่ไม่คาดคิดได้เสมอโดยเฉพาะหมวกกันน๊อคควรสวมใส่ให้เป็นนิสัย
3. ติดตั้งไฟหน้าด้วยสีขาวปรับให้ได้ระดับสายตาของรถคันหน้าแล้วเปิดให้กระพริบตลอดเวลา
ส่วนไฟหลังติดตั้งไฟหลังสีแดงเปิดให้กระพริบตลอดเวลาเช่นกันสำหรับเวลากลางคืน
4. ควรเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นและยาสามัญทั่วติดตัวกันไปบ้างเพราะอุบัติเหตุกับ
นักจักรยานมักเลี่ยงกันไม่ค่อยพ้นเช่น ยาใส่แผลสด น้ำยาฆ่าเชื้อ ผ้าก๊อต พลาสเตอร์
ครีมหรือยาแก้เคล็ดขัดยอกยาแก้ไข้ หรือพวกครีมกันแดด เป็นต้น
5. เมื่อรถเราพร้อมสำหรับการที่จะออกทริปแล้วเราก็ควรจะมีการวางแผนในการออกทริป
แต่ละทริปด้วยถ้าเรามีการวางแผนที่ดีศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางหรือสภาพทางที่เราจะต้องขี่รถไป หรือสถานที่ที่เราจะไปเที่ยวไปพักให้พอมีข้อมูลอยู่บ้างถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ 100 % ก็ตาม
ตรงนี้ก็จะช่วยเราได้มากเพราะการวางแผนการเดินทางสำหรับจักรยานนั้นมีความสำคัญมาก
ไม่เหมือนกับการเดินทางด้วยรถยนต์ที่เราสามารถเร่งเวลาหรือควบคุมเวลาได้หรือจะเดินทาง
ในเวลากลางคืนก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับรถยนต์ส่วนการเดินทางด้วยจักรยานนั้นหากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ผิดพลาดระหว่างการเดินทางแล้วจะทำให้เสียเวลาเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นการหลงทาง
ยางแตก อุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ หรือรถมีปัญหาดังนั้นควรมีการวางแผนไว้บ้างน่าจะเป็นผลดีต่อการเดินทาง
6. สิ่งของหรืออุปกรณ์ที่จะนำไประหว่างการออกทริปตรงนี้ต้องบอกว่าแล้วแต่ลักษณะการออกทริปของเราว่าเป็นแบบใด เช่นจะใช้เวลาออกทริปกี่วัน จะพักกันแบบไหน พักโรงแรมรีสอร์ทหรือไปกันแบบนกขมิ้นค่ำไหนก็กางเต็นท์กันที่นั่นเมื่อได้รูปแบบการออกทริปแล้วจึงจะมาจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆแต่ที่ต้องไม่ลืมเลยก็คือชุดเครื่องมือในการซ่อมแซมจักรยานของเราและ อุปกรณ์ปะเปลี่ยนยาง สูบลมแบบติดรถ ยางในสำรองซึ่งตรงนี้ชาวเสือทั้งหลายคงมีติดรถกันอยู่แล้ว แต่หากต้องเดินทางไกลกันจริงๆไปกันหลายวัน หรือสภาพเส้นทางทุระกันดารกว่าปกติเราอาจต้องเพิ่ม เครื่องมือบางอย่างติดรถไปด้วย เช่นตัวตัดต่อโซ่พร้อมสลักหรือข้อต่อสำรอง เครื่องมือถอดและ ขันชุดกระโหลก เป็นต้นส่วนข้าวของเครื่องใช้อย่างอื่นๆ ที่ผู้เขียนมักนำติดตัวไปด้วยเสมอก็เช่น
ไฟฉายไฟแช็ค ( ถึงแม้เราจะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม ) มีดพกขนาดเล็ก เชือก ผ้าสักผืนสองผืนน้ำมันหล่อลื่นโซ่ ส่วนใครใคร่จะนำอะไรติดตัวมากไปกว่าที่กล่าวมานี้ก็สุดแล้วแต่ตวามจำเป็นก็แล้วกันครับ
แต่ขอแนะนำสักนิดครับว่าเราเดินทางด้วยจักรยานไม่ใช่รถยนต์น้ำหนักที่เราแบกไปนั้น
ควรจะน้อยที่สุดเอาเฉพาะของที่จำเป็นไปเท่านั้นเพื่อที่เราจะได้ไม่อ่อนล้ากับการแบกน้ำหนักเกินความจำเป็นครับ
7. สำหรับการขี่ออกทริปเป็นหมู่คณะนั้นก็มีข้อดีคือเราสามารถแชร์เรื่องสัมภาระกันได้
โดยที่เราไม่ต้องแบกเครื่องไม้เครื่องมืออยู่เพียงคนเดียวหรือเครื่องมือเครื่องใช้บางอย่างก็สามารถใช้ร่วมกันได้
เช่นพวกเต็นท์ ยางอะไหล่เครื่องมือซ่อมรถทั่วๆไปและการออกทริปเป็นกลุ่มนั้นหากเป็นสมาชิก
ที่รู้ใจกันก็จะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานนั้นเป็นไปด้วยความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
การเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานนั้นหากเราเดินทางใกล้ๆประเภทไปเช้าเย็นกลับ
หรืออาจต้องมีการค้างแรมแต่มีความสะดวกสบายพอสมควรหาของกินของใช้ได้ง่าย
บางครั้งการสะพายเป้หลังเพียงใบเดียวเอาอุปกรณ์ข้าวของเพียงไม่กี่อย่างติดตัวไปก็พอเพียงแล้วสำหรับ การออกทริปแต่ละทริปแต่สำหรับนักปั่นที่พิศสมัยการเดินทางด้วยจักรยานอย่างจริงจังและยาวนานประเภทที่ว่าขี่ในสไตล์ทัวร์ริ่งเป็นอาชีพการเตรียมตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักปั่นประเภทนี้และการเลือกใช้รถจักรยานก็มีความจำเป็นที่ต้องเลือกประเภทที่เอื้ออำนวยต่อการทัวร์ริ่งเช่นกันเช่นตัวรถต้องมีขนาดพอเหมาะไม่เล็กหรือบอบบางจนเกินไปเพราะเราคง
หลีกเลี่ยงการบรรทุกสัมภาระไม่ได้สำหรับคนที่หันมาท่องเที่ยวด้วยจักรยานอาจจะบรรทุกมากบ้าง
น้อยบ้างแล้วแต่ทริป ซึ่งตัวรถเองก็คงต้องมีการดัดแปลงปรับท่วงท่าหรืออาจติดตะแกรงเข้าไปเพื่อการนี้จักรยานบางคันจึงมองดูเหมือนรถบรรทุกขนาดย่อมๆนี่เอง
นอกเหนือจากการจัดเตรียมข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆรวมถึงจักรยานคู่ใจของเราแล้ว
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือตัวนักปั่นนั่นเองคงต้องยอมรับกันก่อนว่าการขี่จักรยานนั้นเป็นอะไรที่ไม่ได้
สะดวกสบายอย่างที่หลายๆคนเข้าใจทั้งตากแดด ตากลม บางครั้งตากฝน บางครั้งหนาวเสียจน
แทบอยากจะทิ้งจักรยานมันมีทั้งความเหน็ดเหนื่อย ความอ่อนล้า อันตราย จากรถที่ขับขี่ผ่านเราไปสารพัด แต่ในเมื่อรู้ทั้งรู้และยังมีความต้องการที่จะขี่จักรยานท่องเที่ยวเพื่อที่จะออกทริปได้อย่างสนุก
การเตรียมตัวหรือทำให้ตัวเองแข็งแรงมีความฟิตอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่นักปั่นทั้งหลายพึงกระทำ
เพราะถ้าเราไม่มีแรงปั่นลูกบันไดแล้วสิ่งที่เราจัดเตรียมมาทั้งหมดก็ถือว่าไม่มีความหมายอันใดพาล
ทำให้เที่ยวไม่สนุกอีกต่างหากแต่ถ้าเราแข็งแรงมีแรงปั่นลูกบันไดได้เป็นวันๆสิ่งที่เราได้จากการขี่จักรยานท่องเที่ยวจะเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ไม่รู้ลืมเลยทีเดียวอีกทั้งยังมีความภูมิใจในตัวเองอีกด้วย
บางคนเมื่อมีโอกาสได้ท่องเที่ยวด้วยจักรยานแล้วถึงกับทำให้ไม่อยากขับรถยนต์เที่ยวอีกเลย
เพราะโลกทัศน์ มุมมองต่อสิ่งต่างๆนั้นมองจากมุมของจักรยานแล้วมันจะสวยงามกว่าสัมผัสได้มากกว่าเข้าถึงได้มากกว่า
ในต่างประเทศนิยมแบ่งจัดระดับความยาก-ง่ายของเส้นทางดังนี้
Level 1 A ระยะทางการขี่ 40 - 48 กิโลเมตรต่อวันบนเส้นทางเรียบ
Level 1 B ระยะทางการขี่ 40-48 กิโลเมตรต่อวัน บนเส้นทางเรียบผสมเนินเตี้ย
Level 2 ระยะทางการขี่ 48 - 72 กิโลเมตรต่อวัน บนเส้นทางเนินเตี้ยและเนินชัน
Level 3 ระยะทางการขี่ 72 – 120.5 กิโลเมตรต่อวัน บนสภาพเส้นทางผสมและเป็นเนินสูง
หรือ
New Rider ระยะทางการขี่ 40 - 48 กิโลเมตรต่อวันบนเส้นทางเรียบ
Middle Rider ระยะทางการขี่ 48 - 72 กิโลเมตรต่อวันบนเส้นเรียบผสมทางเนินเตี้ยและเนินชัน
Pro Rider ระยะทางการขี่ 72 – 120.5 กิโลเมตรต่อวัน บนสภาพเส้นทางผสม และเป็นเนินสูง
1 comment:
ก่อนออกเดินทางอย่าลืม ปรับระดับที่นั่งให้เหมาะกับความสูงของผู้ขับขี่ เพื่อ ลดอากการปวดเมื่อย ในการปั่นระยะทางไกล
www.facebook.com/cycligthing
www.cyclingthing.com
Post a Comment